RAJA FERRY PORT
  |   เข้าระบบ สมัครสมาชิก TH | EN | CN
 

‘อภิชาติ ชโยภาส’ แห่งราชาเฟอร์รี่/ชูแผนธุรกิจฝ่ามรสุมไวรัสโควิด-19

ด้วยการตั้งรับจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ของ บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) หรือ RPได้ทันต่อเหตุการณ์ ตั้งแต่เชื้อเริ่มระบาดที่ประเทศจีน เพราะเล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะตามจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ จึงทำให้ มีการปรับแผนเรื่องค่าใช้จ่าย จัดเวลาการเดินเรือใหม่ โดยคำนึงถึงลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่เป็นโลจิสติกส์ กับลูกค้าที่เป็นพันธมิตร จนถึงเวลานี้ยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการมาได้ปรากฏผลตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่ง นายอภิชาติ ชโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) หรือ RP ได้สะท้อนขั้นตอนการดำเนินงานได้อย่างน่าสนใจ

 


ตั้งรับปัญหาอย่างเร็ว

 

ทั้งนี้ นายอภิชาติ ชโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) หรือ RP กล่าวว่า จากนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ที่ข้ามไปยังเกาะพงัน ทำให้บริษัทฯ เล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะตามมาเมื่อไวรัสโควิด-19- ระบาดในประเทศจีนจึงได้ปรับลดค่าใช้จ่าย ปรับเที่ยวเรือตามจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ผ่านมาในช่วงหลายปีอยู่ที่ 60% มีคนจีนประมาณ 30% ด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ มาลงที่สนามบินสุราษฎร์ธานี ส่วนคนไทยประมาณ 40%

โดยทางบริษัทฯ นอกจากมีเรือเฟอรี่วิ่งข้ามเกาะแล้ว ยังมีรถเช่าที่รับนักท่องเที่ยววิ่งในเกาะ แต่ถ้าเป็นรถที่วิ่งจากท่าเรือดอนสักไปยังจังหวัดอื่นๆ จะเป็นของพันธมิตรทางธุรกิจ ที่มีทั้ง รถเช่า เรือเร็ว และที่พัก ตั๋วโดยสารสายการบิน แพ็คเกจทัวร์ ดังนั้นช่วงที่ผ่านมาจึงสามารถบริการลูกค้าชาวต่างชาติที่โดยสารเที่ยวบินเช่าเหมาลำได้ตลอดเวลา พร้อมด้วยการบริการเรือข้ามเกาะตามตารางเดินเรือที่อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวอย่างทั่วถึง ขณะที่รายได้หลักของบริษัทฯ จะมาจากการระวางบรรทุกรถ และสินค้าข้ามเกาะสมุย-เกาะพงันประมาณ 40-50% ส่วนที่เหลือจะเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวประมาณ 40% ส่วนอีก 10% จะเป็นการขายอาหารเครื่องดื่มบนเรือเฟอรี่

สร้างโอกาสในวิกฤติ

ซึ่งวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ นายอภิชาติ กล่าวว่า ได้เห็นโอกาสอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.คู่แข่งทางการค้าน้อยลงเวลานี้มีเรือเฟอรี่ในเส้นทางดอนสัก-เกาะสมุย-เกาะพงัน-เกาะเต่า มีเพียง 2 ราย คือ ราชาเฟอร์รี่ กับซีทราน เฟอรี่ และขณะนี้ทางเกาะเต่ายังปิดบริการ ดังนั้นเส้นทางเดินเรือเฟอรี่เวลานี้จะเป็นเส้นทางการใช้หลัก โดยมีกลุ่มโลจิสติกส์ที่เป็นลูกค้าหลัก และพร้อมสนับสนุนเรือเฟอรี่ให้เปิดเส้นทางเพิ่มเติม 2.ธรรมชาติของเกาะสมุย และเกาะพงันได้ฟื้นตัว และสวยงามมากขึ้น รวมทั้งระบบสาธารณุปโภค ที่มีการก่อสร้าง ซ่อมแซมได้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็วในช่วงที่ปิดบริการเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นเมื่อเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่อีกครั้งทุกอย่างก็พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว

สำหรับการดำเนินการของ ราชาเฟอร์รี่ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทให้บริการเรือเฟอร์รี่ข้ามฟากระหว่างเกาะสมุย และเกาะพะงัน ซึ่งเปรียบเหมือนประตูหน้าด่าน จึงดำเนินตามมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด โดยจะมีจุดคัดกรองที่หน้าท่าเรือทั้ง 3 จุด (ดอนสัก สมุย พะงัน) และให้พนักงานสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติงาน รวมทั้งทำความสะอาดเรือ รถรับส่ง และจุดสัมผัสภายในห้องโดยสารด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสหลังจบงานทุกครั้ง

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ สำหรับการจองแพคเกจทัวร์บนเกาะสมุย และพะงัน ในชื่อเว็บไซต์ goorca เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวหลังคลายมาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งนอกจากจะมีบริการจองตั๋วเรือเฟอร์รี่ข้ามเกาะแล้ว ยังมีแพคเกจทัวร์เกาะสมุย ที่รวมค่าเรือ ค่ารถ โรงแรม ที่พัก และการเข้าร่วมกิจกรรมฟูลมูน ที่ให้นักท่องเที่ยวจองครบจบในที่เดียว รวมทั้งมีบริการจองตั๋วเรือเฟอร์รี่ข้ามเกาะกูด จังหวัดตราดเพิ่มด้วย เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“พฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ทางบริษัทฯ ต้องปรับธุรกิจไปตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เช่น การเว้นระยะห่าง ทั้งบนเรือเฟอรี่ ที่อำนวยความสะดวกในการกำหนดการระวางรถได้เต็มพื้นที่ ขณะที่ด้านจำนวนคนนั้น โดยเฉลี่ยจากเดิมที่บรรทุกได้วันละ 6 พันคน ตอนนี้ลดลงมาวันละพันกว่าคน ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบกับที่นั่งห้องผู้โดยสาร เพราะมีที่นั่งเกินกว่าคนที่ขึ้นเรือ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้ามากกว่าห้องผู้โดยสารที่ติดแอร์ รวมทั้งนิยมเช่าเหมารถโดยสารแบบส่วนตัว กับครอบครัวไม่นั่งปะปนกับคนอื่น เป็นต้น”

เดินหน้าโครงการใหม่

อย่างไรก็ตาม นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ ทางบริษัทฯ ได้จัดสรรพื้นที่บริเวณท่าเรือดอนสักที่ที่มีอยู่ประมาณ 2-3 ร้อยไร่ ด้านหน้าปากทางเข้าทำเป็นตลาดชุมชนเปิดบริการเป็นจุดกระจายสินค้าทั้งผัก และผลไม้เพื่อการส่งออก เป็นแหล่งกระจายสินค้า ทั้งทุเรียนที่มาจากเกาะสมุย ซึ่งในแต่ละปีส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 400 ล้านกว่าบาท หรือทุเรียนเกาะพงัน มะพร้าว ผลไม้ที่อยู่บนเกานำมากระจายสินค้าที่ตลาดดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเดินทางไปขายถึงจังหวัดชุมพร หรือตลาดไทในกรุงเทพฯ

ขณะที่โครงการที่สองอยู่ระหว่างการขออนุญาตการสร้างท่าเรือ ที่เกาะพะลวย บริเวณหมู่เกาะอ่างทอง เพื่อเปิดเส้นทางใหม่จากท่าเรือดอนสัก ข้ามไปที่เกาะพะลวย ซึ่งอยู่กับหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งอนาคตจะเป็นเดสติเนชั่นใหม่ ที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นเกาะที่ใช้พลังงานลม แสงอาทิตย์ เป็นกรีนไอส์แลนด์ มีถ้ำลอดใต้น้ำที่ยาวติดอันดับสองของประเทศไทย ผู้คนอัธยาศัยดี มีอาหารพื้นบ้านไว้คอยต้อนรับ ซึ่งการสร้างท่าเรือใช้เวลาประมาณหนึ่งปี ตั้งเป้าโครงการดังกล่าวน่าจะแล้วเสร็จประมาณ ปี 2565