RAJA FERRY PORT
  |   เข้าระบบ สมัครสมาชิก TH | EN | CN
 

ตลาดท่องเที่ยวทรุด ! RP ซบบริการลูกค้าในบ้าน

'โควิด-19' ทำลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวทรุดหนัก ! สอดคล้องไตรมาสมาส 1 ปี 2563 'ท่าเรือราชาเฟอร์รี่' ขาดทุนสุทธิ 'อภิชาติ ชโยภาส' นายใหญ่ พลิกเกมซบธุรกิจขนส่งสินค้า วัสดุก่อสร้าง และประชาชนในพื้นที่ หวังครึ่งปีหลังสถานการณ์คลี่คลายรายได้กลับสู่ปกติ !

ผลดำเนินงาน 'พลิกขาดสุทธิ' ! ไตรมาส 1 ปี 2563 จำนวน 0.58 ล้านบาท ลดลง 105.86% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สืบเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ที่ขยายวงกว้างมากขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลทำให้เกิดภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ รวมทั้งการชะลอการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิในไตรมาสดังกล่าว  

สอดคล้องกับ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เผยแพร่ประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวนับตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันยังขยายห้ามอากาศยานบินเข้าไทยไปจนถึง 30 มิ.ย. นี้ ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงมากขึ้น ทว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยววงเงินรวม 22,400 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 4 เดือน (ก.ค.-ต.ค.2563)

ประเด็นดังกล่าวถือเป็น 'ปัจจัยบวก' ให้ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาช่วยฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้กับมาฟื้นตัวได้บ้าง แม้จะยังเป็นแค่ตลาดลูกค้าในประเทศเท่านั้น    

'อภิชาติ ชโยภาส' กรรมการผู้จัดการ บมจ. ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ หรือ RP เล่าให้ฟังว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาบริษัทยอมรับว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในส่วนของ 'ลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยว' สะท้อนผ่านภาพรวมของ 'รายได้หายไปกว่า 50%' โดยเฉพาะรายได้หลักจากนักท่องเที่ยว จากภาวะปกติอยู่ที่จำนวน 1.3-1.4 ล้านคนต่อปี ! 

ทว่า คาดหวังสถานการณ์ในครึ่งปีหลัง 2563 น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ และหนุนให้ภาพรวมของผลการดำเนินงานบริษัทกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สะท้อนผ่านการที่ภาครัฐบาลเริ่มมาตรการคลายล็อกดาวน์ให้สามารถจัดกิจกรรมต่างๆ แล้ว และเริ่มกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวอีกครั้ง ดังนั้น คาดว่าอาจจะเริ่มเห็นสัญญาณการจัดกิจกรรมต่างๆ บนเกาะสามารถกลับมาดำเนินการได้บ้าง เช่น การจัดกิจกรรมฟูลมูนปาร์ตี้ เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

'เรายอมรับว่าที่ผ่านมาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบภาพรวมรายได้ของบริษัทหดหายไปกว่า 50% โดยเฉพาะรายได้หลักจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจากปกติ 1.3-1.4 ล้านคนต่อปี'

เขา บอกต่อว่า แม้บริษัทจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้รายได้หลักจากธุรกิจให้บริการเดินเรือคิดเป็นสัดส่วน 89.05% ลดลงในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา 9.13% เนื่องจากนักท่องเที่ยวชะลอการเดินทาง แต่บริษัทไม่ได้อยู่นิ่ง 'ปรับธุรกิจ' หันไปเน้นรับกลุ่มลูกค้าที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้า วัสดุก่อสร้าง และประชาชนในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ยังคงมีการเติบโตได้ดี

 

'เรายังให้บริการเดินเรือขนส่งสินค้า และบริการขนส่งคนในพื้นที่ตามปกติ โดยบริษัทมีรายได้จากช่องทางขนส่งมากขึ้น ทดแทนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หายไป จากการให้บริการรับส่งสินค้าเข้าเกาะรวดเร็วมากขึ้น'

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในพื้นที่เกาะสมุย และ เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังมีงานก่อสร้างสาธารณูปโภค-โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ส่งผลให้บริษัทสร้างรายได้จากช่องทางขนส่งวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ช่วงการแพร่ระบาดบริษัทได้ควบคุมค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนต่างๆ เช่น ลดเงินเดือนพนักงานลง 20-25%

'หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและหากเปิดน่านฟ้าแล้ว บริษัทยังมุ่งเน้นท่องเที่ยวจากกลุ่ม มาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมา เพราะคนกลุ่มนี้ยังสนใจจะเข้ามาท่องเที่ยวบนเกาะสมุยและเกาะพะงัน'

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเส้นทางการเดินเรือไป 'ต่างประเทศ' ในโซนกลุ่มประเทศเมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งได้เจรจาและทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าหากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-10 คลี่คลายหรือกลับสู่ภาวะปกติ บริษัทจะเข้าเจรจาและคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปีนี้อย่างน้อย 1 แห่ง

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทได้ก่อสร้างท่าเทียบเรือและหลักผูกเรือดอนสัก 4 และ 5 เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในอนาคต และในเดือนก.ค. นี้ บริษัทจะขอใบอนุญาต (ไลน์เซนส์) สร้างท่าเทียบเรือเกาะพะลวยเพื่อเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว คาดว่าจะช่วยสร้างรายได้ 1 ใน 3 ของรายได้รวมเมื่อเปิดให้บริการ รวมถึงบริษัทได้เปิดตลาดดอนสักสามัคคี เพื่อกระจายและขนส่งสินค้าการเกษตร ซึ่งจะช่วยเสริมรายได้ให้บริษัทอีกช่องทางหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย

สำหรับ ภาวการณ์แข่งขัน เกาะสมุยและเกาะพะงันตั้งอยู่ในทะเลอ่าวไทย ซึ่งห่างจากอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฏร์ธานีไปทางทิศตะวันออก โดยการเดินทางไปเกาะสมุยสามารถเดินทางได้ทั้งทางเรือและเครื่องบิน ขณะที่การไปยังเกาะพะงันสามารถเดินทางได้เฉพาะทางเรือฯ เท่านั้น ซึ่งธุรกิจของบริษัทสามารถขนส่งผู้โดยสาร พร้อมด้วยยานพาหนะไปยังเกาะสมุยและเกาะพะงันได้ ซึ่งการเดินทางโดยทางเรือสามารถใช้บริการได้ 

ประกอบด้วย 'เรือเฟอร์รี่' ของ บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีทรานเฟอร์รี่ จำกัด เป็นเรือโดยสารที่บรรทุกได้ทั้งคนและยานพาหนะ 'เรือโดยสารความเร็วสูง' (High Speed Boat) ของบริษัท เรือเร็วลมพระยา จำกัด บรรทุกได้เฉพาะผู้โดยสาร 'เรือคาตามาราน' ของบริษัท ซีทรานดิสคัฟเวอร์รี่ จํากัด และ บริษัท ส่งเสริมรุ่งเรือง จำกัด เรือบรรทุกได้เฉพาะผู้โดยสาร แต่ใช้เวลาเดินทางนานกว่าเรือความเร็วสูง

โดยผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและต่างชาติมากกว่า 50% เลือกการเดินทางไปยังเกาะสมุย หรือ เกาะพะงันผ่านทางเรือ ซึ่งใช้บริการสายการบิน รถไฟ หรือรถโดยสารประจำทาง ที่มีผู้ประกอบการภายนอกให้บริการรับ-ส่งจากสถานีรถไฟหรือสถานีรถโดยสารประจำทางของบริษัท ขนส่ง จํากัด (บขส.)ในจังหวัดสุราษฏร์ธานีและจังหวัดนครศรีธรรมราชหรือขับรถยนต์ส่วนตัวไปยังท่าเรือเฟอร์รี่ของบริษัทในอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฏร์ธานี เพื่อโดยสารเรือเฟอร์รี่เดินทางต่อไปยังเกาะสมุยหรือเกาะพะงัน 

นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการยังสามารถเลือกเดินทางไปยังท่าเรือในจังหวัดชุมพรเพื่อโดยสารเรือคาตามารานไปยังเกาะสมุยหรือเกาะพะงัน หรือใช้บริการท่าเรือสาธารณะในอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฏร์ธานี เพื่อโดยสารเรือเฟอร์รี่ของบริษัทคู่แข่งไปยังเกาะสมุย หรือเรือโดยสารความเร็วสูง ไปยังเกาะสมุยหรือเกาะพะงันได้ ทั้งนี้ บริษัทยังคงเน้นการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การลดเงินเดือนพนักงานเป็นการชั่วคราว รวมไปถึงควบคุมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อที่จะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย

เขา บอกต่อว่า ก่อนหน้านี้บริษัทเห็นโอกาสในการลงทุน 4 ธุรกิจ คือ 1.รับซ่อมแซมโรงแรม-รีสอร์ท ในเกาะพะงัน อาทิ การเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ (แอร์) ใหม่ , เครื่องกรองน้ำ , เปลี่ยนสุขภัณฑ์ เพราะว่าเกาะสมุยเป็นฐานยู่แล้ว 2.ธุรกิจทางการศึกษา ปัจจุบันคนในพื้นที่เกาะพะงันเข้ามาเรียนหนังสือในเกาะสมุยมากขึ้น

3.ธุรกิจช้อปปิง มีคนจากเกาะพะงัน และเกาะเต่า นั่งเรือมาช้อปปิงที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสซิเวิด ที่เกาะสมุย ซึ่งแนวโน้มเติบโตขึ้นมาก และ 4.ธุรกิจรถเช่า เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นลูกค้าลงเครื่องบินที่เกาะสมุย และมีการเช่ามอเตอร์ไซด์ขี่ไปเที่ยวเกาะพงันแบบเช้า-เย็นกลับ ซึ่งเห็นทิศทางกลุ่มนักท่องเที่ยวใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบริษัทก็มองต่อไปได้ว่าหากอนาคตบริษัทมีการให้บริการไปเกาะเต่า ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวก็ต้องใช้บริการเพิ่มขึ้นอีก 

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) อนุมัติการจ่ายเงินปันผลปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 0.0556 บาท โดยจ่ายเป็นหุ้นสามัญในอัตรา 20 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล คิดเป็นอัตรา 0.05 บาท และจ่ายปันผลเป็นเงินสดอัตรา 0.0056 บาท กำหนดวันที่ไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล (XD) 10 ส.ค.2563 และกำหนดจ่าย วันที่ 28 ส.ค.2563 และอนุมัติการเพิ่มทุน โดยออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 9,562,487 หุ้น มูลค่าตราไว้หุ้นละ 1 บาทรองรับการจ่ายหุ้นปันผล

นอกจากนี้ยังอนุมัติให้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ วงเงินไม่เกิน 800 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจและการลงทุนด้านต่างๆ ในอนาคตสำหรับปี 2562 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นอีกปีที่ท้าทายของบริษัท เนื่องจากมีพายุโซนร้อน 'ปาบึก' พัดผ่านพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานหลักในการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นปี ทำให้ผู้ประกอบการเดินเรือเฟอร์รี่ต้องหยุดให้บริการชั่วคราว 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก อีกทั้งค่าเงินบาทของไทยยังแข็งค่าขึ้น พฤติกรรมและกลุ่มของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป ส่งผลให้ต้องปรับรูปแบบและระบบในการให้บริการใหม่ในหลายๆ ด้าน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้วย 

ท้ายสุด 'อภิชาติ' ทิ้งท้ายไว้ว่า ในช่วงที่ลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวหายไป แต่เราก็ได้เน้นการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี และเราได้รับลูกค้าที่ต้องการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของวัสดุก่อสร้างที่เติบโตค่อนข้างมาก รวมทั้งศึกษาเส้นทางการเดินเรือใหม่ ๆ เพิ่มเติม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ ในอนาคตด้วย